Type to search

ข่าวภูมิภาค

ชาวนาอ่างทองระทมขาดน้ำทำนานานนับปี แนะรัฐบาลพักหนี้และยกเลิกดอกเบี้ยเกษตรกร

Share

เมื่อวันที่ 23 ก.ค.63 สำนักงานชลประทานที่ 12 ได้จัดโครงการศึกษาดูงานสร้างความเข้าใจระหว่างเกษตรกรและชลประทาน โดย มีนายกฤษฏา ศรีเพิ่มพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 มอบหมายให้นายพงษ์ศักดิ์ อัครมณี ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา พร้อมด้วย นายชวลิต ฉลอม หัวหน้าฝ่ายบริหารจัดการน้ำ นำเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ในเขตจังหวัดอ่างทองในพื้นที่โครงการชลประทานอ่างทอง สำนักงานชลประทานที่ 12 และเกษตรกรในเขตจังหวัดชัยนาท จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดอ่างทอง ในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามหาราช สำนักงานชลประทานที่ 10 นำโดยนายทรงพล พูลสวัสดิ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดอ่างทอง นายสมชาติ ยิ้มละม้าย ประธานผู้ใช้น้ำโครงการมหาราช  พร้อมด้วยแกนนำเกษตรกรทั้ง 7 อำเภอของจังหวัดอ่างทอง จำนวน 40  คน ศึกษาดูงานเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างเกษตรกรผู้ใช้น้ำกับชลประทาน

โดยในช่วงเช้ารับฟังบรรยายการบริหารจัดการน้ำและศึกษาดูงาน ณ อาคารศูนย์เรียนรู้และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท และในช่วงบ่ายเดินทางไปยังเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก รับฟังบรรยายสถานการณ์น้ำในเขื่อนภูมิพล ณ ห้องประชุมภูคำ อาคารประชาสัมพันธ์ เขื่อนภูมิพล และตรวจดูสภาพน้ำบนอาคารเขื่อน

   นายทรงพล พูลสวัสดิ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดอ่างทองกล่าวว่า จากการที่เกษตรกรได้มาศึกษาดูงานในครั้งนี้ ก็จะเห็นว่าสภาพน้ำหรือระดับน้ำในเขื่อนทั้ง 2 เขื่อนอยู่ในขั้นวิกฤติคือน้ำที่มีอยู่บางส่วนกันไว้สำหรับเพื่อการบริโภค และอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือคือการเก็บน้ำไว้ใช้ในการสร้างพลังงานเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้านั้นเอง อีกส่วนที่บอกไว้เพื่อการหมุนเวียนหรือการหล่อเพื่อรักษาระบบนิเวศน์  สำหรับน้ำต้นทุนของเกษตรกรน้ำเพื่อการเกษตรนั้นไม่มีเลยนอกเสียจากรอธรรมชาติคือฝนที่จะตกลงมาตอนบนของเขื่อนซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้น และยังเป็นแค่การคาดการณ์เท่านั้น เท่ากับว่าความหวังของเกษตรกรแทบไม่มีเลยในการใช้น้ำทำการเกษตร (ทำนา) น้ำที่ชลประทานจะจัดสรรในการหมุนเวียนเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ก็อาจมีเพียงเกษตรกรบริเวณต้นน้ำเท่านั้นที่จะได้รับน้ำเป็นบางส่วน ส่วนกลางและท้ายน้ำ คงไม่ได้รับน้ำอย่างทั่วถึง จากการได้รับฟังและจากการตอบข้อซักถามของเจ้าหน้าที่ของเขื่อนภูมิพล และชลประทานจะตอบว่าคาดว่าในปีหน้า (ปี 2564 ) เขื่อนต่างๆที่มีอยู่จะมีน้ำอยู่ในระดับไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์และขึ้นกับธรรมชาติคือถ้าฝนตกชุกก็จะมีปริมาณน้ำมากนั่นเอง

   นายทรงพล พูลสวัสดิ์ ยังกล่าวอีกว่าถ้าสถานการณ์เป็นอย่างนี้และในปีต่อไปเกษตรกรจะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากเพราะไม่สามารถทำการเกษตรได้เลยจึงเรียกร้องไปยังรัฐบาลช่วยเร่งหามาตรการในการช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจังเพราะมีผลกระทบกับเกษตรกร (รากหญ้า)โดยตรงโดยเสนอมาตรการในการแก้ปัญหาดังนี้

   # 1 ให้รัฐบาลหยุดพักชำระหนี้เกษตรกร พักชำระต้น ( ธ.ก.ส.) เป็นเวลา 3 ปีและให้ยกเลิกดอกเบี้ยของเกษตรกรทั้งหมดทั่วประเทศ

   # 2  ให้จัดหาแหล่งกักเก็บน้ำใต้ดิน หรือบ่อทรายที่รกร้างว่างเปล่าและยกเลิกกฎหมายที่ใช้กับอุตสาหกรรมของผู้ประกอบการบ่อทราย

   # 3  สนับสนุนโครงการเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 อย่างจริงจัง ข้อเสนอเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ จะสามารถแก้ปัญหาของเกษตรกรได้ในระดับหนึ่งอย่างแน่นอน