Type to search

การศึกษา

ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ต้นไม้ทรงปลูก30 ต้นที่จังหวัดอ่างทอง (ตอนที่ 1) วัดขุนอินทประมูล

Share

ตลอดระยะเวลา 70 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระบรมโกศ  ทรงครองสิริราชสมบัติ พระองค์ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจ นานัปการโดยมิทรงรู้จักคำว่าเหน็ดเหนื่อยเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทย หนึ่งในนั้นคือทรงปลูกต้นไม้ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปทรงงาน หรือทรงเยี่ยมราษฎรพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ที่ทรงเสด็จในวโรกาสต่างๆในพื้นที่ของจังหวัดอ่างทอง

ทรงปลูกไว้เป็นที่ระลึกและให้แบบอย่างในการอนุรักษ์ป่าไม้ไว้เสมอ ด้วยทรงเห็นความสำคัญของปัญหาป่าเสื่อมโทรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อปัญหาด้านอื่นๆ ไม่เฉพาะเรื่องดินและน้ำ หากแต่โยงถึงปัญหาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง คุณธรรม และระบบนิเวศบางอย่างด้วย หลายท่าน หลายคนในพื้นที่ของจังหวัดอ่างทองอาจยังไม่ทราบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศและพระบรมวงศานุวงค์ ของปวงชนชาวไทยได้ทรงปลูกต้นไม้อะไรบ้าง ทรงปลูกไว้ที่ไหน มีจำนวนมากน้อยเท่าไร เพื่ออะไร และในโอกาสอะไร ซึ่งหนังสือพิมพ์เอกราชนิวส์ สื่อท้องถิ่นของจังหวัดอ่างทองได้เล็งเห็นถึงความสำคัญยิ่งที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมวงศานุวงค์ทุกพระองค์ทรงปลูกต้นไม้เหล่านั้นไว้ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านทุกพระองค์

จึงขอนำเสนอภาพและข้อความของต้นไม้ทรงปลูกทั้ง 30 ต้นในพื้นที่ของจังหวัดอ่างทอง เพื่อให้พี่น้องประชาชนชาวจังหวัดอ่างทอง และพี่น้องประชาชนทั่วประเทศได้รับรู้ รับทราบเพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ และได้เจริญรอยตามที่ทรงทำให้เห็น ซึ่งบัดนี้ต้นไม้ทรงปลูกได้เจริญเติบโตลัดหลั่นกันตามกาลเวลาที่ทรงปลูก

# ต้นไม้ทรงปลูกต้นที่ 1 โพธิ์ศรี (โพฝรั่ง)   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อคราวที่ทั้ง 2 พระองค์เสด็จพระราชดำเนินทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินต้น ณ วัดขุนอินทประมูล อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง   เมื่อวันพุธ ที่ 31 ตุลาคม 2516 ทรงปลูกต้น โพธิ์ศรี  (โพฝรั่ง) ด้านทิศเหนือ ด้านหน้าขององค์พระนอนของวัดขุนอินทประมูล พิกัด  X 653796  พิกัด Y1639345 เป็นต้นไม้ต้นแรกทรงปลูกในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง

# โพธิ์ศรี ชื่อวิทยาศาสตร์  Hura crepitans. จัดอยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE) สมุนไพรโพธิ์ศรี มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า โพธิ์ทะเล โพทะเล โพธิ์ฝรั่ง โพฝรั่ง โพธิ์ศรี โพศรี (บุรีรัมย์), ทองหลางฝรั่ง (กรุงเทพฯ), โพธิ์ศรีมหาโพธิ์ โพศรีมหาโพ (ไทย), โพธิ์อินเดีย, โพธิ์หนาม เป็นต้น

# ลักษณะของโพธิ์ศรี มีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ในแถบประเทศนิการากัวจนถึงเปรู โดยจัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลางที่มีความสูงได้ประมาณ 15 เมตร และในถิ่นกำเนิดอาจมีความสูงได้ถึง 45 เมตร กิ่งก้านมีลักษณะแผ่กว้าง ลำต้นและกิ่งใหญ่จะมีหนามเตี้ย ๆ บนเต้าแบน ๆ ขึ้นกระจายอยู่ทั่วไป และมียางสีขาว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด  ใบโพธิ์ศรี ใบมีลักษณะเป็นรูปหัวใจคล้ายใบโพธิ์ ปลายใบแหลมยาว

โคนใบเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบหยักเป็นซี่ฟันห่าง ๆ ใบมีขนาดยาวประมาณ 7-21 เซนติเมตร แผ่นใบเกลี้ยง มีขนตามเส้นกลางใบด้านล่าง เส้นใบมองเห็นได้ชัดเจน มีเส้นแขนงใบข้างละ 11-16 เส้น โค้งจรดกัน ก้านใบยาวประมาณ 6-22 เซนติเมตร หูใบเป็นรูปใบหอก ยาวประมาณ 0.7-1.5 เซนติเมตร หลุดร่วงได้ง่าย

ดอกโพธิ์ศรี ออกดอกเป็นช่อสีเขียวแล้วเปลี่ยนเป็นสีแดง ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะอยู่บนต้นเดียวกัน โดยดอกเพศผู้จะเป็นสีแดงเข้มเป็นช่อดอกยาว ส่วนดอกเพศเมียจะมีรูปร่างกลมแบนเป็นรูปเห็ดขนาดเล็ก ช่อดอกเพศผู้ยาวประมาณ 1.5-4.5 เซนติเมตร ก้านช่อหนา ยาวได้ประมาณ 1.2-8 เซนติเมตร ดอกเพศเมียมีดอกเดียวอยู่ที่โคนก้าน ส่วนดอกเพศผู้มีจำนวนมาก ก้านดอกยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้มีประมาณ 10-20 อัน เรียง 2-3 วง เรียงสู่ด้านปลาย อับเรณูมีขนาดเล็ก ยาวได้ประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ดอกเพศเมียก้านดอกจะยาวประมาณ 1.2 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงมีลักษณะเป็นรูปถ้วย ยาวได้ประมาณ 5-8 มิลลิเมตร รังไข่มีความยาวเท่ากับกลีบเลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร ยอดเกสรแยกเป็นแฉก แผ่ออก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.4-2.6 เซนติเมตร

ผลเป็นแบบแคปซูลมีลักษณะค่อนข้างกลมแป้น แบ่งออกเป็นกลีบเท่า ๆ กัน ประมาณ 14-16 กลีบ รูปทรงคล้ายฟักทอง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8 เซนติเมตร และสูงประมาณ 3-5 เซนติเมตร ก้นและผลบุ๋มทั้งสองด้าน เปลือกผลแข็งและหนา เมื่อแก่จะมีเมล็ด ถ้าเขย่าดูจะมีเสียงคล้ายกับบรรจุทรายไว้ และถ้าผลแก่เต็มที่ก็จะแตกออกตามยาวของผลเป็นซี่ ๆ ส่วนเมล็ดนั้นมีลักษณะแบนคล้ายถั่วปากอ้า มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร

# ต้นไม้ทรงปลูกต้นที่ 2 “ไทรย้อยใบทู่” สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระองค์ได้ทรงปลูก ต้นไทรย้อยใบทู่ ด้านทิศเหนือ ด้านหน้าขององค์พระนอนวัดขุนอินทประมูล พิกัด X 656725 พิกัด Y 1644350 เป็นต้นไม้ทรงปลูกต้นที่ 2 ในพื้นที่ของจังหวัดอ่างทอง

# ไทรย้อยใบทู่ เป็นไม้ประเภทปันยันในสกุล Ficus ในวงศ์ Mora Ceae ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus Microcarpa สายพันธุ์ที่เหนือกว่าสกุลโพ ชื่อพื้นเมือง ไทรกร่าง, ไทรย้อยใบทู่ ไฮฮี

# ลักษณะทางนิเวศวิทยา (การกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติ) ในป่าดิบแล้ง ป่าเสื่อมโทรม ชายทะเล ป่าเบญจพรรณ หรือเขาหินปูน

เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูงได้ประมาณ 12-25 เมตร และสูงได้ถึง 30 เมตร บางครั้งอาจรอเลื้อยกับพื้นดินหรือกึ่งอาศัยกับไม้อื่น ๆ มีรากอากาศอยู่ตามกิ่งไม้เป็นเส้นเรียงยาวจำนวนมาก เปลือกมีสีเทา ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงตัวแบบเวียน มีลักษณะรูปไข่หรือรูปวงรี ขนาดกว้าง 2.5 เซนติเมตร ยาว 4-10 เซนติเมตร ปลายใบแหลมถึงเป็นติ่งทู่เกือบแหลม …

# ความสำคัญ เกี่ยวพันกับทางพุทธศาสนาคือ เป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าประทับภายใต้ต้นอยู่ถึง 7 วันขณะเสวยวิมุตติสุข (ความสุขที่เกิดจากความหลุดพ้น) และทรงตอบปัญหาของพราหมณ์ทุกชาติ ณ บริเวณต้นไทรย้อยใบทู่

Trending & Hot