สานฝันสู่วันใหม่ “แด่เธอผู้ที่มีความท้าทายทางร่างกายและสติปัญญา”
Share
ผู้ที่ริเริ่มโครงการนี้คือ วีดารัตน์ พานทอง ปัจจุบันเธอเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนวัดลิ้นทอง (จอมวิสิษฐ์ราษฎร์บำรุง) ตำบลมหาดไทย อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง เธอเป็นแม่พิมพ์ (ผู้หญิง ) เก่งที่เกิดมาเพื่อให้โอกาสกับคนพิการ
ผมในนาม บรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของจังหวัดอ่างทอง ซึ่งได้สัมผัสด้วยการทำกิจกรรมร่วมกัน และได้รับทราบประวัติความเป็นมาก่อนพอสมควรก่อนที่ วีดารัตน์ พานทอง จะมาดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ โรงเรียนแห่งนี้วันนี้
ก่อนอื่นผมต้องขอนำพาทุกท่านให้รู้จักกับ คุณวีดารัตน์ พานทอง ซึ่งท่านยังเป็นประธานพัฒนาเยาวชนผู้พิการ สโมสรโรตารีภาค 3350 อีกด้วย เคยมีใครคิดบ้างไหมว่า จะพาเด็กๆที่พิการไปทัศนศึกษายังต่างประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กพิการแต่ละประเภทได้สัมผัสกับโลกภายนอกบ้าง ซึ่งผมเองเคยเห็นแต่เพียงจัดโครงการแลกเปลี่ยนเยาวชน โครงการทัศนศึกษา Summer camp ของลูกคนที่ร่ำรวย ที่ชื่อเสียงมีเงินเป็นหมื่นเป็นแสน เพื่อให้ลูกหลานของเขาได้สัมผัสวัฒนธรรมต่างแดน ไม่เคยเห็นใครทำองค์กรการกุศลที่พานักเรียน (พิการ ) ไปต่างประเทศ จนกระทั่งผมได้มาพบกับเธอผู้นี้ นางสาว วีดารัตน์ พานทอง (ผอ.เปิ้ล)
อาชีพปัจจุบันของเธอนั้น รับราชการครู ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษางานและตำแหน่งด้านสังคมและจิตอาสาฯ สมาชิกสโมสรโรตารีกรุงเทพพัฒนาการ ประธานพัฒนาเยาวชนผู้พิการ สโมสรโรตารี ภาค 3350 อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ สมาคมมิตรภาพประเทศไทยในศตวรรษที่ 21 (FYAA) และอีกมากมายที่เธอผู้นี้ทำด้วยจิตเป็นกุศล
เธอเล่าให้ผมฟังว่า เธอได้รับเกียรติเป็นฑูตวัฒนธรรมของจังหวัด Okinawa ประเทศญี่ปุ่น และมีโอกาสได้เสนอโครงการนำนักเรียน ครู และผู้บริหารเดินทางไปทัศนศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เธอคิดว่าท้าทาย และเป็นการให้โอกาสที่แท้จริง เธอจึงได้ทำโครงการร่วมกับสายการบิน JTA ซึ่งเป็นสายการบินท้องถิ่นของสายการบิน Japan Airline เปิดโอกาสให้ครูและนักเรียนการศึกษาพิเศษ ได้แก่ พิการด้านการมองเห็น พิการด้านการได้ยิน พิการด้านสติปัญญา และพิการด้านร่างกาย รวม 15 คน จากโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ โรงเรียนเศรษฐเสถียร โรงเรียนปัญญาวุฒิกร โรงเรียนศรีสังวาลย์ โรงเรียนศรีอยุธยา( เรียนร่วม)และโรงเรียนเทพศิรินทร์ร่มเกล้า (เรียนร่วม) ได้เดินทางไปแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ณ เกาะ Okinawa Japan เด็กๆได้ทำกิจกรรมต่างๆมากมายที่ไม่เคยได้ทำในประเทศไทย เด็กๆได้ฝึกอาชีพ ได้ฝึกการสังเกต ฝึกการสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนๆพิการชาวญี่ปุ่น ได้ฝึกคิด ฝึกวางแผนอนาคต และฝึกทำภารกิจต่างๆที่เป็นฝึกตนในเรื่องของความเร็วและการตรงต่อเวลา หลังจากเด็กๆกลับมาถึงประเทศไทย เด็กพิการเหล่านี้ได้กลายเป็นคนใหม่ที่มีเป้าหมายในชีวิต เป็นคนไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา เด็กๆได้เติบโตอย่างมีคุณค่าต่อตนเองและสังคม เด็กๆได้ศึกษาต่อในสาขาที่ตนเองชื่นชอบในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง
และนี่คือความสุขที่ ผอ.วีดารัตน์ พานทอง พูดกับผมว่า ชีวิตของเธอได้สร้างคุณค่าให้กับผู้พิการอย่างสง่างามแล้ว หลังจากที่โครงการนี้สำเร็จอย่างสวยงาม เธอได้รับตำแหน่ง ประธานบริการพัฒนาเยาวชนผู้พิการ จากทางสโมสรโรตารี ภาค 3350 และเธอไม่หยุดเพียงเท่านี้ เธอกำลังจัดโครงการเพื่อพัฒนาเยาวชนผู้พิการดังนี้
(1 ) โครงการแข่งขันการพูดสุนทรพจน์สำหรับผู้พิการด้านการมองเห็น (2 ) โครงการแข่งขันการเล่านิทานสำหรับผู้พิการด้านการได้ยิน (3 ) โครงการแข่งขันการพูดฉับพลันสำหรับเด็กออทิสติค (4 ) โครงการแข่งขันการพูดในที่ชุมชนสำหรับเด็กพิการด้านร่างกาย
เธอได้สร้างและฝึกนิสัยให้เด็กๆเหล่านี้โดยคาดหวังเป้าหมายของเด็กๆพิการต้องเติบโตเป็นคนที่มีประโยชน์สำหรับประเทศชาติ สอนให้เด็กๆรู้ว่าอย่าเป็นผู้รับอย่างเดียว คุณต้องรู้จักเป็นผู้ให้ด้วย TAKE AND GIVE ผมมั่นใจว่าผอ.วีดารัตน์ พานทอง จะนำสิ่งดีๆมาให้เด็กปกติให้พัฒนาอย่างแน่นอนแต่สิ่งที่ผมทึ่งคือ เธอมาเหนือความคาดหมายเสมอ คิดนอกกรอบที่สร้างสรรค์และเป็นนักปั้นมือดีสร้างอนาคตให้กับเยาวชนของประเทศชาติทั้งเด็กปกติและเด็กพิเศษ เป็นโชคดีของลูกหลานจังหวัดอ่างทองจริงๆครับ ที่มีเธอผู้นี้ โปรดติดตามและเป็นกำลังใจ ผอ.วีดารัตน์ พานทอง ได้ใน YouTube Teacher Apple Story
เธอกล่าวว่าโครงการ “สานฝันสู่วันใหม่”สำเร็จได้นั้นต้องขอขอบคุณผู้ร่วมสานฝันให้เป็นเป็นจริงเกิดขึ้นได้นั้นต้องขอขอบพระคุณท่านเหล่านี้ นายก ธนาพิพัฒน์ ธำสุธัญยุทธ์ สมาคม FYAA # อดีตผู้ว่าการภาค เกษมชัย นิธิวรรณากุล สโมสรโรตารี ภาค 3350 # นายกสุชาญ ขำจร สโมสรโรตารี กรุงเทพ พัฒนาการ # คุณมัณฑนา เอื้อประชานนท์ ผู้สื่อข่าว # คุณศรสวรรค์ ชนะโกศลจิต เลขาโครงการ ฯ และผู้ใหญ่ใจดี ทุกๆท่าน
สาทร คชวงษ์ / บก.เอกราชนิวส์