Type to search

เทคโน ฯ ชาวบ้าน

เกษตรจังหวัดอ่างทองแนะเกษตรกรผลิตเชื้อไตรโคเดอร์ เพื่อเป็นการป้องกันโรคระบาดจากเชื้อราในนาข้าว

Share

เชื้อราไตรโคเดอร์มา เป็นเชื้อราชั้นสูงที่ดำรงชีวิตอยู่ในดิน อาศัยเศษซากพืชซากสัตว์และอินทรียวัตถุเป็นแหล่งอาหาร เจริญได้รวดเร็วบนอาหารเลี้ยงเชื้อราหลายชนิด สร้างเส้นใยสีขาวและผลิตส่วนขยายพันธุ์     ที่เรียกว่า “โคนิเดีย” หรือ “สปอร์” จำนวนมากรวมเป็นกลุ่มหนาแน่นจนเห็นเป็นสีขาว เชื้อราไตรโคเดอร์มา   เป็นศัตรูต่อเชื้อราสาเหตุโรคพืชหลายชนิดโดยวิธีการเบียดเบียน หรือเป็นปรสิตและแข่งขันหรือแย่งใช้อาหาร   ที่เชื้อโรคต้องการ นอกจากนี้เชื้อราไตรโคเดอร์มายังสามารถผลิตปฏิชีวนสาร และสารพิษ ตลอดจนน้ำย่อยหรือเอนไซม์สำหรับช่วยละลายผนังเส้นใยของเชื้อโรคพืช คุณสมบัติพิเศษของเชื้อราไตรโคเดอร์มาคือ สามารถช่วยละลายแร่ธาตุให้อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช จึงช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชและชักนำให้ต้นพืชมีความต้านทานต่อเชื้อโรคพืชทั้งเชื้อราและแบคทีเรียสาเหตุโรค เช่น โรคเมล็ดด่าง โรคไหม้ โรคลำต้นเน่า โรคใบจุดสีน้ำตาล

เป็นเชื้อที่ผลิตและขยายได้ง่ายเกษตรกรสามารถทำได้ด้วยตนเอง โดยใช้ข้าวสาร 2 ส่วน น้ำ 1 ส่วน นำไปหุงให้สุกแต่ไม่แฉะตักใส่ถุงพลาสติกแบบทนร้อน ถุงละ 2 ขีดครึ่ง  แล้วแผ่รอให้อุ่นจึงเอาหัวเชื้อเยาะลงไปประมาณ ครึ่งซีซีต่อถุง มัดยางยืดที่ปากถุงพลาสติกเขย่าเพื่อให้เข้ากัน เจาะรูที่ใกล้หนังยาง 20 – 30 รูเพื่อไล่ลมออก จากนั้นนำไปบ่มด้วยการวางไว้ในที่ร่มประมาณ  2 วัน  นำมาเขย่าครั้งหนึ่ง แล้ววางที่เดิมอีก ประมาณ 7 วัน ก็สามารถนำมาใช้ได้ การใช้คลุกเมล็ดพันธุ์ประมาณ 1 ช้อนแกงต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม ก่อนนำไปปลูก หากเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวให้นำเมล็ดพันธุ์ไปแช่น้ำเพื่อบ่ม 1 คืน แล้วนำขึ้นมาคลุกกับเชื้อราไตรโคเดอร์มา ในอัตราส่วน เชื้อสด 1 กิโลกรัมต่อน้ำ  200 ลิตร จากนั้นไปแช่น้ำบ่มอีก 1 คืน ก่อนนำไปหว่านในแปลงปลูก

การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาในนาข้าว

ครั้งที่ 1 แช่เมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยน้ำเปล่า 1 คืน จากนั้นแช่ด้วยน้ำเชื้อราไตรโคเดอร์มา นาน 30 นาที ยกขึ้นบ่มข้าวต่ออีก 1 คืน จึงนำไปหว่าน อัตราการใช้ เชื้อราโตรโคเดอร์มา 1 กิโลกรัม/น้ำ 50-100 ลิตร

ครั้งที่ 2 หลังหว่านข้าว 30 วัน ใส่เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า พร้อมการปล่อยน้ำเข้านา อัตราการใช้ เชื้อราโตรโคเดอร์มา 2 กิโลกรัม/ไร่

ครั้งที่ 3 ช่วงข้าวอายุ 40-50 วัน ใส่เชื้อราไตรโคเดอร์มา พร้อมการปล่อยน้ำเข้านา อัตราการใช้   เชื้อราโตรโคเดอร์มา 2 กิโลกรัม/ไร่ เพื่อควบคุมโรคกาบใบเน่า

ครั้งที่ 4 ช่วงข้าวอายุ 70-80 วัน ฉีดพ่นเชื้อราไตรโคเดอร์มาให้ทั่วแปลงอัตราการใช้ เชื้อราโตรโคเดอร์มา 1 กิโลกรัม/น้ำ 100 – 200 ลิตร เพื่อควบคุมโรคใบจุด โรคใบไหม้

ครั้งที่ 5 ช่วงข้าวเริ่มโผล่ออกจากใบธงได้ 5% ฉีดพ่นเชื้อราไตรโคเดอร์มาอัตราการใช้ เชื้อราโตรโคเดอร์มา 1 กิโลกรัม/น้ำ 100 ลิตร ให้ทั่วแปลงนาเพื่อควบคุมโรคใบขีดสีน้ำตาล โรคเมล็ดด่าง

ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่าน หรือได้ที่กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดอ่างทอง 0 3561 1296 ต่อ 107

Trending & Hot