กรมทางหลวง เปิดเวทีรับฟังเสียงชาวบ้านจังหวัดอ่างทอง รอบ 2 เพื่อออกแบบขยายถนน 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 309 (สายเอเชีย) ช่วง อ่างทอง – อ.ไชโย
Share



วันที่13 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทอง ชั้น 2
อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง นายไพบูลย์ ศุภบุญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง เป็นประธานเปิดการประชุมสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 2) โดยจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจรบนทางหลวงหมายเลข 309 ช่วง อ่างทอง – อ.ไชโย เพื่อนำเสนอข้อมูลความก้าวหน้าการศึกษาโครงการ โดยเฉพาะรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมของโครงการ แนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในรายละเอียด (EIA) ผลการดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชนและแผนการดำเนินงานขั้นต่อไป พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อนำมาใช้พิจารณาประกอบการศึกษาออกแบบรายละเอียดถนนโครงการให้มีความเหมาะสมมากที่สุด โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้กว่า 100 คน







ในการประชุมในครั้งนี้ ได้นำเสนอสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ โดยมีรายละเอียดต่างๆ ดังนี้ สำหรับแนวเส้นทางโครงการ มีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณ กม.60+700 และสิ้นสุดโครงการ บริเวณ กม.73+387 มีระยะทางรวมประมาณ 12.687 กิโลเมตร โดยครอบคลุมพื้นที่จังหวัดอ่างทอง จำนวน 2 อำเภอ รวม 10 ตำบล ประกอบด้วย อำเภอเมืองอ่างทอง ตำบลตลาดกรวด ตำบลย่านซื่อ อำเภอไชโย ตำบลเทวราช ตำบลราชสถิตย์
ตำบลไชโย ตำบลจรเข้ร้อง ตำบลชะไว ตำบลหลักฟ้า ตำบลไชยภูมิ และตำบลชัยฤทธิ์
ทั้งนี้ ภาพรวมแนวเส้นทางโครงการฯ เป็นทางหลวงขนาดเดิม 2 ช่องจราจร โดยจะพัฒนา ให้เป็น 4 ช่องจราจร ซึ่งที่ปรึกษาโครงการฯ ได้พิจารณาคัดเลือกรูปแบบทางเลือกการพัฒนาถนนโครงการ ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้เส้นทาง และประชาชนสามารถสัญจรไป-มาภายในชุมชนและระหว่างชุมชนใกล้เคียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ สะดวก และปลอดภัย โดยมี 3 รูปแบบ ดังนี้



รูปแบบทางเลือกที่ 1 ทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจร ความกว้างช่องจราจรช่องละ 3.50 เมตร
ไหล่ทางด้านนอกกว้างด้านนอกข้างละ 2.50 เมตร เกาะกลางแบบกำแพง (Concrete Barrier Median) ซึ่งเหมาะสำหรับถนนนอกเมืองหรือนอกเขตชุมชนที่มีเขตทางจำกัด รถสัญจรด้วยความเร็วสูง หรือมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถขยายคันทางตามปกติได้
รูปแบบทางเลือกที่ 2 ทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจร ความกว้างช่องจราจรช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้างข้างละ 2.50 เมตร เกาะกลางแบบยก (Raised Median) เหมาะสำหรับถนนในเมืองหรือชานเมืองที่รถสัญจรด้วยความเร็วไม่สูงนัก พื้นที่เกาะกลางสามารถใช้ปลูกหญ้า ไม้พุ่มเตี้ย หรือปูแผ่นพื้นคอนกรีตได้
รูปแบบทางเลือกที่ 3 ทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจร ความกว้างช่องจราจรช่องละ 3.50 เมตร
ไหล่ทางด้านนอกกว้างข้างละ 2.50 เมตร และไหล่ทางด้านในกว้างข้างละ 1.50 เมตร เกาะกลางแบบร่อง (Depressed Median) ซึ่งเหมาะสำหรับถนนนอกเมืองหรือนอกเขตชุมชนที่มีเขตทางกว้าง รถสัญจรด้วยความเร็วสูง หรือไม่มีข้อจำกัดที่สามารถขยายคันทางตามปกติได้



โดยผลการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ในด้านต่างๆ พบว่า ในช่วงนอกเมืองหรือในช่วงทั่วไป รูปแบบที่เหมาะสมที่สุดของโครงการ ได้แก่ รูปแบบทางเลือกที่ 1 เกาะกลางแบบกำแพงคอนกรีต (Concrete Barrier Median) เนื่องจากรถใช้ความเร็วได้สูง มีความปลอดภัยต่อรถที่แล่นทิศทางสวนกันเมื่อเกิดเสียหลักเข้าหาเกาะกลางซึ่งป้องกันการชนประสานงาได้ดี ป้องกันการละเมิดการใช้เกาะกลางได้ดี มีค่าก่อสร้างที่ไม่สูง มีการซ่อมบำรุงน้อย ใช้พื้นที่ในการก่อสร้างน้อย และสามารถใช้คันทางเดิมได้เกือบทั้งหมดจึงทำให้มีผลกระทบต่อผู้ใช้ทางขณะก่อสร้างน้อยที่สุด ส่วนในช่วงชุมชน รูปแบบที่เหมาะสมที่สุดของโครงการ ได้แก่ รูปแบบทางเลือกที่ 2 เกาะกลางแบบยก (Raised Median) เนื่องจากช่วงชุมชนเป็นช่วงที่รถใช้ความเร็วไม่สูง สามารถใช้ประโยชน์จาก
ความกว้างเกาะกลางสำหรับคนพักรอข้ามถนนและสามารถจัดเป็นช่องจราจรสำหรับรอเลี้ยวหรือกลับรถได้
ส่วนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในช่วงที่ผ่านมา ได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิ สำรวจและเก็บตัวอย่างด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาประกอบการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) โดยมีประเด็นที่ศึกษาครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ทรัพยากรสิ่งแวดลอมทางชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต ซึ่งจะนำไปศึกษาต่อในขั้นรายละเอียด (EIA) เพื่อเตรียมกำหนดมาตรการป้องกัน และแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และแผนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป
ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมครั้งนี้ กรมทางหลวง จะติดประกาศสรุปผลการประชุมให้ประชาชนได้รับทราบภายใน 15 วัน นับจากวันประชุม ณ บอร์ดประชาสัมพันธ์หน่วยงานปกครองในพื้นที่ศึกษาโครงการ และช่องทางออนไลน์ของโครงการ ประกอบด้วย เว็บไซต์ www.อ่างทอง-ไชโย.com และแฟนเพจเฟซบุ๊ก : โครงการสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร ทล.309 ตอน อ่างทอง – อ.ไชโย หรือ Line Official : @536gsvrz
พร้อมทั้งรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนนำมาพิจารณาประกอบการศึกษาและออกแบบรายละเอียดของโครงการให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และจะดำเนินการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อประชาสัมพันธ์รายละเอียดข้อมูลโครงการไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่โครงการได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง โดยมีกำหนดจัดการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 ในช่วงประมาณเดือนมิถุนายน 2568 และกำหนดจัดประชุมสรุปผลการศึกษาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 3) ในช่วงประมาณเดือนสิงหาคม 2568 เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาในทุกด้านให้ประชาชนได้รับทราบรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินงานต่อไป



สาทร คชวงษ์ / บรรณาธิการข่าว