ประวัติวัดนางในธัมมิการาม ต.ศาลเจ้าโรงทอง อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง
Share
นางใน หมายถึงสตรีซึ่งอยู่ในราชสำนักฝ่ายใน เป็นเขตพื้นที่พระราชฐานเฉพาะสำหรับสตรี อันเป็นที่ประทับและเป็นที่อยู่ของมเหสี พระสนม เจ้าจอม เจ้าจอมมารดา พระราชธิดา ข้าบาทบริจาริกา ข้าราชการสำนักฝ่ายใน เขตนี้ถือว่าเป็นพื้นที่หวงห้ามบุรุษจะย่างกรายเข้าไปมิได้ มีเพียงพระมหากษัตริย์และพระราชโอรสที่ยังไม่ได้ผ่านพิธีโสกันต์ (อายุยังไม่เกิน 13 ปี ) เท่านั้น
นางในทุกคนมีหน้าที่รับผิดชอบงานต่างๆกัน เช่น พนักงานพระภูษา พนักงานเครื่องเสวย พนักงานพระสุธารส พนักงานเฝ้าหอพระมณเฑียร พนักงานโขลนทวาร ตลอดจนพนักงานมโหรี ขับร้องฟ้อนรำ ฯลฯ
พนักงานส่วนใหญ่มาจากลูกสาวหลานสาวชาวผู้ดีมีตระกูล ซึ่งบิดามารดานำมาถวายตัวตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อการศึกษาอบรมสมบัติต่างๆ
ที่จริงแล้วชาวแขวงเมืองวิเศษไชยชาญก็ได้เป็นนางในตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว เพราะในสมัยพระเจ้าบรมโกศ พระมเหสีทั้ง สองของพระองค์ คือกรมหลวงอภัยนุชิต และกรมหลวงพิพิธมนตรี ทรงประทับที่ตำหนักคำหยาดมาก่อน เมื่อพระเจ้าบรมโกศ เสด็จขึ้นครองราชย์ ก็ทรงย้ายไปประทับในพระราชวังกรุงศรีอยุธยา มีพนักงานนางในติดตามไปรับใช้จำนวนมาก
จนลุล่วงถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ก็ยังคงมีสตรีชาววิเศษไชยชาญเป็นพนักงานราชสำนักฝ่ายในอยู่ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระองค์ทรงโปรดการสร้างวัดและการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง เมื่อพระองค์ทรงพระประชวนในเดือน 3 ปีจอ พุทธศักราช 2393 ทรงมีพระราชดำรัสว่า “เงินในท้องพระคลังที่เหลืออยู่จากการแผ่นดินมีถึง 4 หมื่นชั่ง ขอสักหมื่นหนึ่งเถิด ให้เป็นผู้เป็นเจ้าแผ่นดินต่อไปทำนุบำรุงวัดที่ชำรุด และวัดที่ยังสร้างค้างอยู่นั้นให้สำเร็จ
แล้วโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเบิกเงินจากท้องพระคลังทำบุญถวาย ถวายปัจจัยแก่พระราชาคณะ พระสงฆ์เปรียญ สามเณรเปรียญ พระครูฐานาอันดับ รวม 7,359 รูป สิ้นพระราชทรัพย์ 1,893 ชั่ง 15 ตำลึง
ต่อมาอีกเดือนเศษ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เสด็จสวรรคต พนักงานนางในที่มีนิวาสสถานอยู่วิเศษไชยชาญก็ประสงค์จะสร้างกุศลตามพระราชดำริจึงรวบรวมทุนทรัพย์ปัจจัยมาสร้างวัดแห่งหนึ่งในหย่อมย่านบ้านเดิมของตน เพื่อเป็นการอุทิศกุศลถวายพระราชกุศล เรียกชื่อกันว่า “วัดนางใน” ตั้งแต่นั้นมา การสร้างวัดขึ้นมาใหม่ทำให้ชาววิเศษไชยชาญที่อพยพย้ายถิ่นฐานตั้งแต่ครั้งเสียกรุงได้ย้ายกลับมาอยู่ยังภูมิลำเนาเดิม เมื่อเข้ามาอยู่มากขึ้นก็ช่วยกันทำนุบำรุงวัดให้เจริญยิ่งขึ้นตามลำดับ
ในขณะนั้น วิเศษไชยชาญยังเป็นอำเภอไผ่จำศีล จนกระทั่ง พ.ศ. 2451 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสเมืองอ่างทอง ได้พระราชทานเปลี่ยนชื่อ อำเภอไผ่จำศีล ให้เป็นอำเภอวิเศษไชยชาญ ตามชื่อเมืองเดิม ชาวชุมชนวัดนางในพร้อมใจกันสร้างอุโบสถใหม่ขึ้น กว้าง 6 เมตรยาว 16 เมตรต่อมาก่อได้สร้างถาวรวัตถุต่างๆให้สมบูรณ์
วัดนางในธัมมิการามได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2453 (ในสมัยรัชกาลที่ 5 ) การพัฒนาบูรณะวัดได้เริ่มอย่างจริงจังและเจริญก้าวหน้ามากในสมัยของ พระอุปัชฌาย์นุ่ม ธมมาราโม (หลวงพ่อนุ่ม) เป็นอดีตเจ้าอาวาส (พ.ศ.2468 – 2497 ) สถานที่ตั้ง เลขที่ 97 / 7 หมู่ที่ 7 ต.ศาลเจ้าโรงทอง อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันคือ พระโสภณปริยัติเมธี (วีระ วีรญาโณ ป.ธ. 8 ) ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะอำเภอโพธิ์ทอง
ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2562 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จเป็นองค์ประธานถวายผ้าพระกฐิน และเททองหล่อพระประธานเพื่อประดิษฐานในอาคารบำเพ็ญกุศล ณ วัดนางในธัมมิการาม