Type to search

เรื่องเล่า

ประวัติ วัดฝาง ที่อ่างทอง

Share

            วัดฝาง  ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 2 หมู่ที่ 7  ตำบลไผ่จำศีล  อำเภอวิเศษชัยชาญ  จังหวัดอ่างทอง สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย  เป็นวัดราษฎร์  มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่  19 ไร่  ตามหลักฐานของกรมที่ดิน  เจ้าของที่ดินชื่ออำแดงเนต (โสด)  ทิศเหนือติดแม่น้ำน้อย  ทิศใต้ติดถนนวิเศษชัยชาญหมู่บ้านไผ่จำศีล  ทิศตะวันออกติดที่ดินเอกชน และทิศตะวันตกติดแม่น้ำน้อยมีที่ธรณีสงฆ์ 1 แปลง โฉนดที่ 6070 อยู่ติดทุ่งไผ่จำศีล   มีเนื้อที่ 10 ไร่ 2 งาน 36 ตารางวา  เจ้าของที่ดินชื่ออำแดงเนต(โสด)

            วัดฝาง สร้างขึ้นเมื่อก่อน พ.ศ. 2300 ไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้ใดเป็นผู้สร้าง มีอุโบสถมหาอุต กว้าง 6  เมตร ยาว 7.5 เมตร พระราชทานวิสุงคามสีมา  เมื่อ พ.ศ. 2320 มีพระศรีอารยเมตไตรและพระเชียงแสนปางขัดสมาธิเพชร รอยพระพุทธบาทสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มี หอสวดมนต์ไม้สักทองทั้งหลัง เจดีย์เก่าแก่ หน้าวิหารหน้าต่างเวลามหัศจรรย์ที่ต้นโพธิ์ อนุรักษ์ไว้ให้ชมใช้เป็นลานธรรมเหมาะสมอย่างยิ่ง  ต้นไม้ยืนต้นอายุ 200 ปีขึ้นไปหลากหลายชนิดให้ชม เช่นต้นโพธิ์  ต้นตะเคียน ต้นมะพลับ ต้นพิกุล ต้นสำโรง ต้นสารภี ต้นปีบ ต้นกรวย และต้นฝางนามเดียวกับชื่อวัดที่นำมาเป็นยาอุทัย

            มีอุปัชฌาย์ทองดี  เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก  ท่านเป็นเจ้าคณะแขวงและเป็นพระหมอโบราญ มีกุฏิไม่กี่หลัง เดิมสร้างอยู่ด้านหน้าอุโบสถ ใกล้กับต้นขนาบในปัจจุบัน ท่านนำท่อนไม่ใหญ่มาขุดเป็นเรือยาว   จำนวน 50 ฝีพาย บางครั้งใช้นั่งเดินทางไปเป็นอุปัชฌาย์อุปสมบทตามกิจนิมนต์  และในที่สุดชาวบ้านได้นำเรือดังกล่าวไปแข่งขันเพื่อความสามัคคี  สนุกตามประเพณีจนมีชื่อเสียง  สืบเนื่องมาหลายสมัย ที่มีชื่อว่า ‘ แม่ทองคำ” กับ “ช้างร้อง” ปัจจุบันวัดฝางไม่มีเรือดังกล่าวแล้ว อดีตวัดในละแวกบ้านยืมไปพายเข่งขันตามเทศกาลและประเพณีเป็นเวลานานมาก

                        ต่อมาเจ้าอาวาสองค์ที่ 2  พระอธิการให้ (สกุลเดิม  มาดีประเสริฐ) ซึ่งเป็นชาวบ้านใต้วัดฝาง ได้ริเริ่มนำญาติมากถากถางปรับสภาพสถานที่ด้วยการขนทราย    มาถมพัฒนาสถานที่และย้ายวัดมาสร้างในที่ปัจจุบัน  มีหอสวดมนต์ที่สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง  มีเสาไม้สักทรงแปดเหลี่ยมตลอดทุกต้นทั้งหลัง  พื้นไม้อัดเรียบร้อยสวยงามหาดูได้ยาก ทราบข้อมูลที่หน้าจั่วมีอักษรฉลุด้วยไม้สัก บูรณะซ่อมแซมเมื่อ พ.ศ. 2472 โดยช่างชาวจีนอพยพมาอยู่ในหมู่บ้านไผ่จำศีลติดกับวัดฝางนั้นเอง รวมอายุการก่อสร้างประมาณ 100 ปี และกุฏิทรงไทยจากผู้มีจิตศรัทธาได้ถวายวัด จำนวน 6 หลัง จากนั้นมีเจ้าอาวาสสืบทอดต่อมาพัฒนาวัดด้วยความเจริญรุ่งเรืองตลอดเวลา

            สมัยเจ้าอาวาสองค์ที่ 5  นี้โด่งดังมากท่านเป็นพระเกจิอาจารย์  ท่านมีวิทยาอาคม  ด้านเมตตามหานิยมและคุณไสย  หมอโบราณรักษา โรคภัยต่างๆได้จนได้รับฉายาว่า  จอมขมังเวทย์  “หลวงพ่อกลุ่ม”  เกจิดังแห่งลุ่มแม่น้ำน้อย  มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในอดีต การคมนาคมมาวัดฝางต้องมาทางน้ำเท่านั้น

            “หลวงพ่อกลุ่ม  พุทธิญาโณ” เป็นเจ้าอาวาสของวัดฝางจนมรณภาพ   อาคารเสนาสนะพัฒนาต่อเนื่องมา หอขวางด้านตะวันออก  1  หลัง (หอสวดมนต์) ศาลาท่าน้ำ 1 หลัง หอระฆัง 1 หลัง  ฌาปนสถาน ศาลาอเนกประสงค์ กว้าง 15” 40 เมตร ยาว 32 เมตร หลังจากนั้นมีเจ้าอาวาสสืบทอดพัฒนาวัดมาด้วยความเจริญรุ่งเรืองตามกาลสมัยต่อมา  อุโบสถหินทรายประยุกต์ วัดฝาง

พ.ศ.2530- 2558 พระครูธรรมรัต (สมพงษ์ อริยวงโส) เจ้าอาวาสองค์ที่ 10 ขณะนั้นอุโบสถหลังเก่าชำรุดทรุดโทรมมาก  ท่านริเริ่มร่วมกับชาวบ้านจำนวนหนึ่ง  เริ่มด้วยการรับบริจาคทรัพย์ ทอดผ้าป่าสามัคคีหาทุนสร้างอุโบสถหินทรายหลังใหม่ และได้กำหนดวางศิลาฤกษ์อุโบสถหินทรายประยุกต์หลังนี้ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2535 และได้นำเนินการก่อสร้างต่อๆมานานถึง 26 ปีจึงแล้วเสร็จ

คราวต่อมาได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการของวัด และมีพระยศพร จนทสีโล เป็นเจ้าอาวาส วัดฝาง แห่งนี้เป็นรูปที่ 12 (8มี.ค.59 – ปัจจุบัน ) ได้พร้อมใจกันจัดงานปิดทองฝังลูกนิมิต อุโบสถหินทรายประยุกต์หลังนี้ โดยกำหนดพิธีในวันที่ 27 ธันวาคม 2562  ถึงวันที่ 4 มกราคม 2563

ท่านสาธุชนผู้มีจิตศรัทธา ร่วมสร้างบุญกุศลเพื่อพัฒนาปฏิสังขรณ์วัดฝางได้โดยผ่านช่อทางดังนี้ ติดต่อบริจาคได้ที่วัด หรือโอนเงินเข้าบัญชี ธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี กองทุนโบสถ์วัดฝาง เลขบัญชี 138- 0 – 19808 – 9 สาขาวิเศษชัยชาญ โทรสอบถามข้อมูลที่เจ้าอาวาส 095- 528 -0645 หรือ 081 – 925 – 2598