Type to search

ข่าวท้องถิ่น

พ่อเมืองอ่างทองลงพื้นที่บ่อขยะฝังกลบ ของเทศบาลเมืองอ่างทองเพื่อรับฟังปัญหา

Share

   # นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี  ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง พร้อมด้วยนายศักดิ์ดา บรรดาศักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ว่าที่ร้อยโท อรรถชล ทรัพย์ทวี นายอำเภอไชโย นางสาวแสงมณี มีน้อย ท้องถิ่นจังหวัดอ่างทอง นายสนั่น เชื้อทอง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดอ่างทอง นายทนงศักดิ์ ศรีวิเชียร ปลัดเทศบาลเมืองอ่างทอง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ของเทศบาลเมืองอ่างทอง ร่วมลงพื้นที่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ของเทศบาลเมืองอ่างทองเพื่อร่วมแก้ไขปัญหามลภาวะทางกลิ่น ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของ ต.เทวราช อ.ไชโย จ.อ่างทอง ซึ่งมีพื้นที่กำจัดขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย จำนวน 89 ไร่ 3 งานเศษได้ดำเนินการจำกัดขยะแบบฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 โครงสร้างพื้นฐาน แบ่งออกเป็นบ่อฝังกลบ 2 บ่อ บ่อฝังกลบที่ 1 ใช้พื้นที่รวม 6 ไร่ 29 ตรงวาพื้นที่ชั้นที่ 1 กำลังใช้งานอยู่  บ่อฝังกลบบ่อที่ 2 ใช้พื้นที่รวม 13 ไร่ 17 ตะรางวา ซึ่งบ่อฝังกลบที่ 2 ชั้นที่ 1 ซึ่งใช้งานเต็มที่แล้ว บ่อฝังกลบที่ 2 ชั้นที่ 2มีพื้นที่รวม 13 ไร่ ซึ่งใช้งานเต็มที่แล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562

   # สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 – 16 และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดอ่างทองได้บูรณาการร่วมกันผลักดันแก้ปัญหาการจัดการเรื่องขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ภายใต้ Roadmap การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยขยะเก่าให้หมดไป ขยะใหม่ต้องกำจัดและดำเนินการปิดบ่อขยะที่ไม่ถูกต้องของจังหวัดอ่างทองทั้งหมด 11 บ่อ เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 58 ได้มีการทำข้อตกลงร่วมกัน (MOU ) ระหว่างเทศบาลเมืองอ่างทองกับ อปท.ในพื้นที่ของจังหวัดอ่างทอง รวม 64 แห่งที่นำขยะมูลฝอยมาทิ้งที่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแห่งนี้วันละ 110 ตัน เพื่อเป็นการป้องกัน อปท.ที่มีการกำจัดขยะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ แต่ในขณะเดียวกันทางศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแห่งนี้ก็ยังรับขยะจากจังหวัดอื่นๆอีกด้วย ซึ่งอยู่พื้นที่ใกล้เคียงกับจังหวัดอ่างทองอาทิจังหวัดสิงห์บุรีรวม 19 แห่งประมาณวันละ 40 ตัน ซึ่งส่วนนี้ก็อาจมีปัญหาบ้างเมื่อปริมาณขยะเพิ่มขึ้นจากการนำขยะจากที่อื่นเข้ามา

   # เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2560 ทางเทศบาลเมืองอ่างทองได้จัดทำประชาวิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการกำจัดขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายโดยการทำ RDF และใช้เทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (SUT – MBT ) โดยได้รับความเห็นชอบจากปลัดกระทรวงมหาดไทยแล้วตามหนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด่วนที่สุดที่ มท 0810.5/ 2148 ลงวันที่ 21 ม.ค.2562 โดยบริษัทสยาม เวสท์ เพาเวอร์ จำกัดเป็นผู้ถือสิทธิบัตรและได้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนกับเทศบาลเมืองอ่างทองในการกำจัดขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย แต่ต่อมาบริษัท สยาม เวสท์ เพาเวอร์ จำกัดได้ขายกิจการ ให้กับผู้ถือหุ้นรายใหม่ ไม่มีประสบการณ์การกำจัดขยะและไม่ร่วมทำสัญญาร่วมลงทุนทำให้ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายของเทศบาลเมืองอ่างทองต้องจำหน่ายขยะมูลฝอยที่ตกค้างสะสมในบ่อที่ 2 จำนวน 14,434.5 ตันให้กับบริษัทเทอมัล เทค จำกัด (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ต.ค. 63 ) และเมื่อวันที่ 24 ก.ย. 63 ทางศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยและของเสีย เทศบาลเมืองอ่างทองได้จัดจำหน่ายขยะมูลฝอยที่ตกค้างสะสมในบ่อที่ 1 จำนวน 3,700 ตันโดยบริษัทสยาม อาร์ เค ดี จำกัด

   # หลังจากการประชุมโดยมีนายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทองเป็นประธานในการประชุมเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหามลภาวะทางกลิ่น ได้ข้อสรุปเป็นเบื้องต้นดังนี้

1..ให้ทางเทศบาลเมืองอ่างทองจัดทำแผนการดำเนินงานของศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายอย่างเป็นระบบ

2.เร่งประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนได้รับรู้ ในการดำเนินการกำจัดกลิ่น (ฉีด emคุณภาพสูง) โดยมีห้วงเวลาชัดเจน วัดผลได้

3. งดรับขยะจากต่างพื้นที่(จังหวัดอื่น) โดยให้เวลาเตรียมการ 30 วัน

4. เร่งการทำ RDF และขายขยะเก่าที่สะสมตกค้างให้เร็วที่สุด

5.ควบคุมน้ำเสียจากกระบวนการจำกัดขยะตามข้อห่วงใยของผู้ว่าราชการจังหวัด

6.หากมีข้อร้องเรียน/หารือขอให้แจ้งโดยตรงได้ที่ปลัดเทศบาลเมืองอ่างทอง 09-2469-9848

นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ยังกล่าวอีกว่า ขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันแก้ปัญหา เพราปัญหาขยะมูลฝอยคือสิ่งที่ทุกคนต้องร่วมช่วยกันแก้ โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนที่สามารถช่วยกันลดขยะโดยวิธีการ 3Rs 1.ลดการใช้ (reduce) 2.ใช้ซ้ำ(reuse) และ3.นำกลับมาใช้ใหม่(recycle)

สาทร คชวงษ์ / ภาพข่าว