หลังวิกฤติ ไวรัสโคโรนา 2019 คือจุดให้ทุกคนหันกลับมาคิด ด้วยการเดินตามรอยเท้าพ่อหลวงอย่างมั่นคงและยั่งยืน

Share

ระบบทุนนิยมเสรีและวัตถุนิยมหลอกพวกเรามานานแสนนาน ให้ละทิ้งรากเหง้าแห่งการเป็นสังคมเกษตรกรรม ด้วยการป่าวประกาศว่าเป็นชีวิตที่ยากลำบาก ต้องทนตากแดดตากลม เหนื่อยยาก และฝากความหวังไว้กับดินฟ้าอากาศ หวังให้ผู้คนละทิ้งเรือกสวนไร่นาแล้วบ่ายหน้าเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม เพื่อไปเป็นแรงงานราคาถูกให้พวกเขา

การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ไปทั่วโลก น่าจะเป็นสิ่งที่เข้ามาช่วยตอกย้ำคำกล่าวข้างต้นได้เป็นอย่างดี

ประเทศเยอรมนีเป็นหนึ่งในประเทศที่มี GDP สูงกว่าประเทศไทยหลายเท่า การเกษตรเล็กๆน้อยๆ เขาไม่ทำ ทำแต่เรื่องใหญ่ๆ เช่น ขายยานพาหนะมีระดับ ขายสินค้าประเภทเทคโนโลยี ขายสินค้าแบรนด์เนมและการท่องเที่ยว เป็นต้น แต่เมื่อเกิดวิกฤต ลูกค้าหยุดหรือชะลอการจับจ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยกลุ่มสินค้าอุปโภค สินค้าแบรนด์เนมลง การท่องเที่ยวหยุดชะงักเพราะผู้คนไม่สามารถเดินทาง สินค้าที่พวกเขามีจึงไม่รู้จะขายให้ใคร

วิกฤตครั้งนี้ตอกย้ำว่า สิ่งจำเป็นกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ มีเพียง “จตุปัจจัย” หรือ “ปัจจัย 4” อันได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค เพียงเท่านั้น อะไรที่นอกเหนือจากนั้นเป็นแค่ส่วนเกินของชีวิต  หาได้มีความจำเป็นไม่ เพราะไม่มีก็ไม่ตาย ชีวิตยังดำเนินต่อไปได้

ณ ตอนนี้ผู้คนหยุดเดินทางท่องเที่ยว เครื่องบินไม่บิน นักท่องเที่ยวจะมาจากไหน หลายประเทศโดยเฉพาะประเทศในยุโรปที่ขายการท่องเที่ยวเป็นหลัก รายได้ต่างหดหายกันถ้วนหน้า ผู้คนในภาคบริการและโรงแรมล้วนต้องตกงาน ขาดรายได้ ขาดภาษี ขาดงบประมาณ

วิกฤตแบบนี้ การรบราฆ่าฟันกันก็หยุดลง ประเทศที่ขายอาวุธก็ขายอาวุธไม่ได้ อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี ล้วนประสบกับความยากลำบากอย่างแสนสาหัส

คนไม่เดินทาง น้ำมันก็กลายมาเป็นสิ่งไม่จำเป็น ราคาน้ำมันทั่วโลกจึงดิ่งลง ประเทศที่ขายน้ำมันเป็นหลัก รายได้หายไปเกินครึ่ง จนประเทศสะดุดเพราะไม่มีเงินช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะในด้านสาธารณสุข

ประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่อย่างคูเวต ซึ่งเป็นประเทศเล็กๆ แต่ร่ำรวยมหาศาลเพราะน้ำมัน แต่ไม่สามารถผลิตอาหารเองได้ ต้องอาศัยการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากต่างประเทศทั้งหมด เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ภาพชาวคูเวตที่ต้องออกมาเข้าแถวยาวเหยียดเพื่อรอรับอาหาร ดูแล้วน่าเวทนายิ่งนัก สุดท้ายเงินก็กลายเป็นเพียงเศษกระดาษ และน้ำมันก็กินไม่ได้

หันกลับมาดูเมืองไทย ตอนนี้คนที่ไม่เดือดร้อนไปกับวิกฤตครั้งนี้ เห็นจะมีก็แต่เกษตรกรจนๆที่ดำเนินรอยตามทฤษฏีของพ่อหลวงเท่านั้นทีพอจะอยู่รอดปลอดภัย ปลูกพืชผัก ผลไม้ เลี้ยงสัตว์แบบทำนาสวนผสมในพื้นที่ที่มีอยู่อย่างครบวงจร หรือที่มักเรียกกันว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งพ่อหลวงของเราพระองค์ทรงทำไว้เป็นต้นแบบแม้แต่ใสวนจิตลดาฯ ในบ้านของพระองค์เอง โครงการหลวงฯทั่วทุกทิศของประเทศไทย โครงการฟาร์มตามพระราชดำริฯ อีกมากมาย ในวันนี้เป็นบทพิสูจน์คนบ้านนอกหรือในชนบทซึ่งเคยถูกคนเมืองหลายคนดูถูกไว้ บ้านหลังเล็กๆ ที่รายล้อมไปด้วยเรือกสวนไร่นา  มีทุกอย่างที่จำเป็นแก่การดำรงชีวิตอยู่พร้อมสรรพ ทั้งข้าวปลาอาหาร ผักสวนครัว ไข่ ผลไม้ และเนื้อสัตว์  แล้วคนเมืองล่ะมีอะไร? ในเมื่อทุกอย่างที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตล้วนต้องฝากไว้กับคนอื่นแทบทั้งสิ้น

วิกฤติครั้งนี้สอนให้คนไทยที่มีผลกระทบต้องหันมาถามตัวเองว่า จีดีพี คือความมั่งคั่งของประเทศชาติที่แท้จริงหรือ ..? ทั้งๆที่ชีวิตของมวลมนุษย์ในโลกนี้ต้องการเพียงปัจจัยสี่ที่พร้อมสรรพนั่นต่างหาก นี่คือความมั่นคงของชีวิต

วิถีชีวิตที่ต้องไปเป็นแรงงานราคาถูกให้เขาจิกหัวใช้ ต้องวิ่งไล่ตามตัวเลขจีดีพี และฝากทุกอย่างไว้กับคนอื่น กับชีวิตที่สามารถพึ่งพาตนเองในการให้ได้มาซึ่งปัจจัยยังชีพ อย่างไหนกันแน่ที่สร้างความมั่นคงให้กับชีวิตของมนุษย์อย่างแท้จริง

ยิ่งวิกฤติบานปลาย ที่ไม่รู้ว่าปีหน้า หรืออีกสองสามปีข้างหน้าจะต้องเจอะเจอกับอะไรอีก ทำให้ยิ่งหันมาทบทวนถึงการกลับมาพึ่งพาตนเองตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการใช้ชีวิตอย่างสมถะเรียบง่ายตามวิถีทางสายกลางแห่งอริยมรรคมีองค์ 8 โดยเฉพาะแนวทางหรือทฤษฏีของพ่อหลวงของปวงชนชาวไทยได้วางไว้ถูกต้องและดีแล้ว