เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2563 เวลา 10.30 น นายแพทย์ ศานติวรางคณา ผอ.สปสช. เขต 4 สระบุรี นายสุรเชษ นิ่มกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทอง มีนายแพทย์ศรีศักดิ์ ตั้งจิตธรรม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอ่างทอง ร่วมเป็นสักขีพยานในการจัดพิธีลงนามในข้อตกลงเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการ ผู้สูงอายุและผู้ที่มีความจำเป็นต้องฟื้นฟูสมรรถภาพในท้องถิ่นของจังหวัดอ่างทองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ณ ห้องประชุมเล็กชั้น 2 อบจ.อ่างทองโดยได้เชิญหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ ผู้แทนสภาคนพิการฯ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่ พร้อมทั้งสื่อมวลชนในพื้นที่ ร่วมเป็นสักขีพยานในการจัดตั้ง“กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพ”
นายแพทย์ชลอ ศานติวรางคณา ผอ.สปสช.เขต 4 สระบุรี กล่าวว่า สปสช. ได้ดำเนินการตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด เพื่อให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มีส่วนร่วมในการสร้างหลักประกันสุขภาพด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพให้กับบุคคลในพื้นที่ได้อย่างครบวงจรและมีประสิทธิภาพ โดยการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ส่วนหนึ่ง สมทบกับเงินงบประมาณขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อีกส่วนหนึ่งในจำนวนที่เท่ากัน เพื่อให้คนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ที่อยู่ในระยะที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ ในเขตพื้นที่จังหวัดได้รับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ที่จำเป็นต่อสุขภาพจากหน่วยบริการ สถานบริการ หรือองค์กรอื่นๆ รวมทั้งได้รับเครื่องช่วยกายอุปกรณ์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับบริการทางการแพทย์ ในกรณีที่มีผลการตรวจวินิจฉัย หรือมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ รวมถึงการปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้แก่คนพิการ ผู้สูงอายุและผู้อยู่ในระยะที่จำเป็นจะต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ ตามหลักเกณฑ์และรายการที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติประกาศกำหนด
สำหรับงบประมาณในการดำเนินงาน สปสช.เขต 4 สระบุรีได้สนับสนุนงบประมาณตามจำนวนประชากรสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ในแต่ละจังหวัด ซึ่งจังหวัดอ่างทอง มีประชากรสิทธิบัตรทอง จำนวน 188,345 คน โดยสนับสนุนงบประมาณ 5 บาทต่อประชากร เป็นจำนวนเงิน 941,725 บาท (เก้าแสนสี่หมื่นหนึ่งพันเจ็ดร้อยยี่สิบห้าบาทถ้วน) ขณะที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทอง ต้องสมทบเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ เท่ากันหรือมากกว่า ซึ่งปี 2564 องค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทอง ได้สมทบเงินกองทุนฟื้นฟูฯ จำนวนเงิน 95,000 บาท (เก้าแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) โดยการดำเนินการกองทุนฟื้นฟูฯ องค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทอง เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563
การดำเนินงานกองทุนฟื้นฟูฯ องค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทอง นั้น นายสุรเชษ นิ่มกุล นายก อบจ.อ่างทอง ได้แสดงความจำนงในการเข้าร่วมดำเนินงานกองทุนฟื้นฟูสรรถภาพฯ หวังเพื่อให้คนพิการ ผู้สูงอายุและผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลฟื้นฟูได้เข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการในจังหวัดอ่างทองให้มีการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น การดำเนินการกองทุนฟื้นฟูฯ ในพื้นที่เขต 4 สระบุรี เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน มีองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่เข้าร่วมดำเนินการกองทุนฟื้นฟูฯ จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี , องค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, องค์การบริหารส่วนจังหวัด สิงห์บุรี, องค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทอง ส่วน องค์การบริหารส่วนจังหวัดนทบุรี จะมีพิธีลงนาม MOU ในวันที่ 9 ตุลาคม 2563 นี้คาดว่าในอนาคตจะให้ครบทั้ง 8 จังหวัด ผอ.สปสช.เขต 4 สระบุรีกล่าวทิ้งท้าย
องค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟุสมรรถภาพ
ตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการ กองทุนฯ ระดับจังหวัด พ.ศ. 2562 ข้อที่ 11 กำหนดให้ อบจ. ดำเนินการหรือประสานกับหน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้กรรมการตามที่กำหนดข้อ 10 (7) ถึง (16 ) ดังนี้ โดยให้ ผู้บริหารสูงสุดของ อบจ.เป็นผู้ออกคำสั่งแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการกองทุน และสำเนาแจ้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต ทราบ
องค์ประกอบของกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพมีดังนี้
1 มีผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ เป็นที่ปรึกษา 2 ผอ.สนง.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต เป็นที่ปรึกษา 3 ให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนั้นๆเป็นประธาน 4 นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เป็น กรรมการ 5 ท้องถิ่นจังหวัด เป็นกรรมการ 6 องค์ประกอบกองทุนฯ ตามประกาศข้อ 10 มีดังนี้
พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด เป็นกรรมการ 7 ผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่จำนวน 1 คนเป็นกรรมการ 8 ผู้แทนสภาคนพิการทุกประเภท หรือองค์กร หรือชมรมในจังหวัดจำนวน 3 คน เป็นกรรมการ 9 ผอ.รพ.ศูนย์หรือ ผอ.รพ.ทั่วไปจำนวน 1 คนเป็นกรรมการ 10 ผอ.รพ.ชุมชนจำนวน 1 คน เป็นกรรมการ 11 ผอ.หรือหัวหน้าหน่วยบริการประจำที่ไม่มีสังกัดกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 1 คนเป็นกรรมการ 12 แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูหรือแพทย์ที่เกี่ยวข้องจำนวน 1 คนเป็นกรรมการ 13 นักกายภาพบำบัด หรือผู้ประกอบโรคศิลปะที่เกี่ยวข้องจำนวน 1 คนเป็นกรรมการ 14 นายกองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 1 คนเป็นกรรมการ 15 นายกเทศมนตรี จำนวน 1 คนเป็นกรรมการ 16 ผู้แทนของศูนย์หลักประกันสุขภาพประชาชน หรือหน่วยจำนวน 1 คนเป็นกรรมการ 17 เจ้าหน้าที่ สนง.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต ที่ ผอ.มอบหมายจำนวน 1 คนเป็นกรรมการ 18 ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือเจ้าหน้าที่ผู้บริหารสูงสุดมอบหมายจำนวน 1 คนเป็นกรรมการและเลขานุการ 19 หัวหน้าหน่วยงานคลัง หรือผู้บริหารสูงสุดมอบหมายจำนวน 1 คนเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ 20 เจ้าหน้าที่ของ อบจ.ที่ผู้บริหารสูงสุดมอบหมายจำนวน 1 คนเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ 21 เจ้าหน้าที่ของ สนง.สาธารณสุขโดยผู้บริหารสูงสุดมอบหมายจำนวน 1 คนเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุน (ตามข้อ 15 แห่งประกาศฯ พ.ศ. 2562) มีดังนี้
@ พิจารณาอนุมัติแผนการเงินประจำปีของกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพ ซึ่ง อบจ.ในฐานะเลขานุการจัดทำเสนอคณะกรรมการกองทุน
@ พิจารณาอนุมัติเงินกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพสนับสนุนตามแผนงาน โครงการหรือกิจกรรมเพื่อเป็นค่าใช่จ่ายในการดำเนินงานตามข้อ 9
@ ออกระเบียบที่จำเป็นเพื่อประสิทธิภาพในการบริหารกองทุนฯ ทั้งนี้ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับประกาศฯ รวมถึงการกำหนดรายการอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการเพิ่มเติม หรือหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการสนับสนุน ตามข้อ 9 (1) (ก) และ (ข)
@ สนับสนุนให้ผู้มีสิทธิ์ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพในเขตพื้นที่ เข้าถึงการบริการฟื้นฟูสมรรถภาพในชุมชน ที่บ้าน หรือที่หน่วยบริการ ได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ
@ มีหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นชอบรายงานผลการดำเนินงาน รายงานการรับเงิน การจ่ายเงิน และเงินคงเหลือของกองทุนดังกล่าวฯ นอกจากนี้คณะกรรมการกองทุนยังมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามประกาศฯ หรือตามที่คณะกรรมการกองทุนมอบหมาย (ตามข้อ 16 ) แห่งประกาศฯ พ.ศ. 2562