อ่างทองนำร่อง สร้างธนาคารน้ำ

Share

นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง นำข้าราชการประสานความคิดกับผู้ประกอบการ(บ่อทราย) แก้ปัญหาภัยแล้ง/น้ำท่วมในอนาคต

เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 64 เวลา 09.50 น. นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง (ประธานในพิธี) กล่าวมอบนโยบาย โครงการ “ธนาคารน้ำช่วยได้” และจัดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โดยมีนายณัชฐเดช มุลาลี นายอำเภอป่าโมก กล่าวรายงานมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงประกอบด้วย นายรมย์รวินท์ กลิ่นศรีสุข ผ.อ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายามณี  นางสาวสุพีพร โมรา หน.สำนักงานป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอ่างทอง นายณัชฐเดช มุลาลี นายอำเภอป่าโมก นายไพศาล เรียงสุข ท้องถิ่นอำเภอป่าโมก น.ส.ดวงฤทัย ธรรมอนันต์ เกษตรอำเภอป่าโมก ภาคเอกชน นายเฉลิม เผ่าพยัฆ (เจ้าของบ่อทราย) นายสุรพร สรณารักษ์ นายกเทศมนตรีตำบลป่าโมก นายสุรชัย จันทร์กอฮอ กำนัน ต.นรสิงห์ นายสุธารา ขำเสงี่ยม ผญ.หมู่ที่ 4 ต.นรสิงห์ และนายยงยุทธ แซ่ลิ่ม ตัวแทนเกษตรกร ในพื้นที่ของตำบลป่าโมก ร่วมลงนามในครั้งนี้ร่วมกัน

วัตถุประสงค์ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย/ ภัยแล้ง เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ตามนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทองและรัฐบาล ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อำเภอป่าโมก ยังประสบกับปัญหาภัยธรรมชาติอย่าต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องน้ำท่วม และภัยแล้ง ซึ่งที่ผ่านมาการแก้ปัญหาเหล่านั้นแค่แก้ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น หลายสภาวะยังไม่มีรูปแบบ แนวทางหรือมาตรการในการรับมือและจัดการปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้งได้อย่างจริงจังเป็นระบบ ซึ่งการแก้ไขเรื่องดังกล่าวให้เกิดความยั่งยืนนั้น จำเป็นจะต้องมีการวางแผนแนวทางหรือประยุกต์ใช้เครื่องมือที่สามารถป้องกันและบรรเทาที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการใช้โมเดลหรือนวัตกรรม เทคโนโลยี และแนวคิดออกแบบใหม่ “ธนาคารน้ำช่วยได้” เป็นหนึ่งในโมเดลเป็นการบริหารจัดการที่น่าสนใจ ซึ่งที่ผ่านๆมานายทรงพล พูลสวัสดิ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดอ่างทองได้เคยนำเสนอแนวคิดการผันน้ำเข้ามาเก็บไว้ตามบ่อทรายของเอกชน (ผู้ประกอบการ) แบบนี้มาก่อนเมื่อหลายปีซึ่งทางจังหวัดอ่างทองนั้นได้ประชาสัมพันธ์ให้ภาคเอกชนได้เข้าร่วมโครงการฯแต่ยังมิได้ดำเนินการเป็นรูปแบบ ในขณะเดียวกันในปัจจุบันได้มีผู้ประกอบการที่มีความเสียสละ และมีแนวคิดตรงกันกับหน่วยงานของทางราชการ (ผู้ประกอบการ) เจ้าของบ่อทรายแห่งนี้ คือนายเฉลิม เผ่าพยัฆ พื้นที่ หมู่ที่ 1 ต.ป่าโมก อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง

นายณัชฐเดช มุลาลี นายอำเภอป่าโมกล่าวว่า แนวคิดการออกแบบใหม่ๆ ซึ่งแน่นอนว่า “ธนาคารน้ำช่วยได้” เป็นหนึ่งในโมเดล และน่านำไปทดลองใช้งานในหลายๆพื้นที่ของประเทศไทยที่กำลังประสบปัญหา น้ำท่วม / ภัยแล้ง สำหรับในจังหวัดอ่างทองในพื้นที่ของอำเภอป่าโมกโดยดำเนินการในพื้นที่ที่เป็นบ่อทราย จำนวน 2,500 ไร่คาดว่าจะรองรับน้ำได้จำนวนวกว่า 2 ล้านลูกบาศก์เมตร ประชาชนจะได้รับผลประโยชน์ จำนวนกว่า 3,000 ครัวเรือน และพื้นที่การเกษตรก็จะได้ประโยชน์ จำนวนกว่า 700 ไร่

กรอบและแนวทางการดำเนินงาน จากความร่วมมือร่วมใจของชุมชน ในการดูแล อนุรักษ์ และรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ด้วยตัวเอง อีกทั้งเป็นการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถของชุมชน ผู้นำชุมชน เครือข่ายอาสาสมัคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการพัฒนา และการกำหนดกฎระเบียบการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดต่อไป

สาทร คชวงษ์ / รายงาน