มูลนิธิสิริพัฒนคุณานุสรณ์ ร่วมมือกับ อบต.บางเจ้าฉ่าฟื้นฟูการแสดงระบำ (จักสาน) ไม้ไผ่

Share

วันที่ 5 มีนาคม  2567 เวลา 09.00 มูลนิธิสิริพัฒนคุณานุสรณ์ (จำลอง สิริญาโณ) นำโดยร้อยตำรวจเอก สำเร็จ เจียรนัยเจริญ ประธานมูลนิธิฯ พร้อมด้วย นายสุรินทร์ นิลเลิศ นายไพรัช ศรีเมฆ นางสาวสายชล สุขมนต์ นายก อบต.บางเจ้าฉ่า นางปราณี จันทรวิจิตร ประธานชมรมผู้สูงอายุตำบลบางเจ้าฉ่า อำเภอโพธิ์ทอง นำผู้สูงอายุเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้จำนวน 20 คน  โดยมีอาจารย์ไพรัช ศรีเมฆ เป็นครูผู้ฝึกสอน ให้ความรู้ เรื่องของเพลง ท่ารำ เพลงระบำ (จักสาน) ไม้ไผ่ โดยมีการฝึกซ้อม และให้ความรู้ ณ ฐานการเรียนรู้มูลนิธิสิริพัฒนคุณานุสรณ์ (จำลอง สิริญาโณ) วัดยางทอง ตำบลบางเจ้าฉ่า อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง

   เพลงที่ฝึกซ้อม ประพันธ์โดย นายโกสิทธิ์ แตรสังข์ ซึ่งเป็นเพลงพื้นบ้านเนื้อร้องทำนองพรรณนาถึงวิถีชีวิตชนบทเนื้อหาของเพลงนั้นกล่าวถึงไม้ไผ่ ( ต้นไผ่สีสุก) เป็นไม้ที่ชาวตำบลบางเจ้าฉ่า อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง นำมาจักสานเป็นกระเป๋า ตระกร้า กระบุง สุ่มไก่ ตะข้อง ลอบ ไซ กระจาด ตระแกรง ของใช้ต่างๆที่ทำด้วยไม้ไผ่ ที่เรียกติดปากกันว่าเครื่องจักสาน  บางเจ้าฉ่า สร้างชื่อเสียงโด่งดังเป็นอย่างมากให้กับชุมชนแห่งนี้ เนื้อเพลงที่พรรณนาถึงเครื่องจักสานที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนไทย ผสมผสานท่วงทำนองการร่ายรำที่อ่อนช้อย สวยงามตามจังหวะของเพลง

   และที่สำคัญยิ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ มีพระมหากรุณาธิคุณ ทรงสร้างคุณค่าให้กับเครื่องจักสานไม้ไผ่บางเจ้าฉ่าโดยภาพกระบุงไม้ไผ่ในภาพส่วนพระองค์ อีกทั้งสมเด็จพระเทพฯ ได้ทรงขอให้ชาวบ้าน หมู่บ้านยางทอง ตำบลบางเจ้าฉ่า ไปสอนตามโครงการพระราชดำริฯ จำนวน ๒ คน ได้แก่นางสาวสำเนียง ขันทอง และนางสาววิรัตน์ ทองสร้อย และใน ปี 2522 ทรงเสด็จส่วนพระองค์ หมู่บ้านยางทองโดยมีเจ้าอาวาสวัดยางทอง (พระอธิการจำลอง  สิริญาโณ) รับเสด็จในอาคารเอนกประสงค์ ทรงมีความห่วงใยในต้นไผ่ในพื้นที่มีจำนวนน้อยลง ทรงมีพระดำริให้ชาวบ้านปลูกไว้ใน บริเวณวัดยางทอง เพื่อเป็นพันธ์ให้ชาวบ้านนำไปปลูกเพื่อให้ไม้มีเพียงพอกับงานจักสาน  และทรงลงพระนามในสมุดเยี่ยมวัดยางทอง

ปี 2550 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงเสด็จเยี่ยมชาวบ้านหลังน้ำท่วมใหญ่ ทรงปลูกกระท้อนทองใบใหญ่ และ พระราชทานพันธ์ไผ่สีสุกให้ผู้นำ ได้ปลูกไว้เป็นพันธ์เพื่อใช้ทำจักสานเพิ่มเติม และเพียงพอ นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นแก่พสกนิกรชาวบ้านบางเจ้าฉ่า

   นายไพรัช ศรีเมฆ ครูผู้ฝึกสอน กล่าวว่า การร่ายรำเพลงระบำ (จักสาน) ไม้ไผ่ นั้นต้องใช้ผู้รำจำนวนหลายคน ตั้งแต่ 5-10 คนการแสดง ระบำ รำ ฟ้อน เป็นศิลปวัฒนธรรม มีลักษณะเฉพาะ และมีความอ่อนช้อยแตกต่างวิถีถิ่น เป็นการแสดงที่เพิ่มคุณค่า ให้เกิดความยอมรับและสืบสานในชุมชนท้องถิ่นของตนเองและภายนอก  ที่ผ่านมาการแสดงระบำ (จักสาน) ไม้ไผ่ตำบลบางเจ้า โดยเด็กนักเรียนของโรงเรียนวัดยางทอง ได้ถูกจัดให้แสดงในวาระหรืองานต่างๆของจังหวัดอ่างทอง ซึ่งเป็นที่น่าภาคภูมิใจของชาวตำบลบางเจ้าฉ่าแห่งนี้

   นายสุรินทร์ นิลเลิศ กล่าวว่า การสร้างกิจกรรมในครั้งนี้มุ่งไปที่กลุ่มผู้สูงอายุของตำบลบางเจ้าฉ่า โดยการสมัครใจร่วมเรียนรู้การรำ ระบำ (จักสาน) ไม้ไผ่ ร่วมการแสดงออกในกิจกรรมสาธารณประโยชน์เพื่อสังคม อีกทั้งเป็นการสืบสาน ต่อยอด ทุน ภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น อีกทั้งเป็นการสร้างคุณค่า หล่อหลอม และความภาคภูมิใจในตัวผู้สูงอายุและหน่วยงานที่สนับสนุน อีกทั้งเป็นการพัฒนาร่างกาย จิตใจ สมองของผู้สูงอายุและสร้างความสามัคคีในการทำกิจกรรมต่างๆร่วมกัน

สาทร คชวงษ์ / บรรณาธิการข่าว