Type to search

ข่าวท้องถิ่น

อ่างทอง จัดพิธีเททองหล่อบรรพชนนักรบแขวงเมืองวิเศษไชยชาญในโครงการก่อสร้างอุทยานประวัติศาสตร์แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ อนุสรณ์สถานแห่งความจงรักภักดี

Share

นายรังสรรค์ ตันเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง เป็นประธานฝ่ายฆราวาสในพิธีเททองหล่อบรรพชนนักรบแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ ในโครงการก่อสร้างอุทยานประวัติศาสตร์แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ อนุสรณ์สถานแห่งความจงรักภักดี ขององค์การบริหารส่วนตำบลตลาดใหม่ โดยมี พระเทพสุวรรณมุนี เจ้าคณะจังหวัดอ่างทอง (มหานิกาย) เจ้าอาวาสวัดต้นสน และพระเทพบัณฑิต เจ้าคณะจังหวัดอ่างทอง (ธรรมยุต) เจ้าอาวาสวัดเฉลิมกาญจนาภิเษก เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และมีนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ผู้แทนผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอวิเศษชัยชาญ นายอำเภอโพธิ์ทอง นายอำเภอไชโย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตลาดใหม่ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชน เข้าร่วมพิธี

องค์การบริหารส่วนตำบลตลาดใหม่ ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างอุทยานประวัติศาสตร์แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ อนุสรณ์สถานแห่งความจงรักภักดี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และเป็นศูนย์เรียนรู้อย่างครอบคลุมในบริบทของชุมชน สร้างเสริมเศรษฐกิจเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน และประเทศชาติ เพื่อให้คนไทยมีอนุสรณ์สถานซึ่งเป็นศูนย์รวมบรรพชนแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ อันเป็นต้นแบบในการดำรงชาติ ซึ่งเกิดจากความกล้าหาญ ความเสียสละด้วยเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อลูกหลานไทย และเป็นศูนย์รวมในการปลูกจิตสำนึกความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อันนำไปสู่ความเป็นปึกแผ่นเข้มแข็งและดีงาม โดยดำเนินการปั้น ถอดแบบพิมพ์ และเททองหล่อบรรพชนนักรบแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ จำนวน 12 ท่าน ขนาดองค์มีความสูง 3 เมตร ประกอบด้วย 1. เจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดี สมุหพระกลาโหม (พระราชมนู) ขุนศึกคนสำคัญในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช 2. ออกพระวิเศษไชยชาญ เจ้าเมืองคนแรกแห่งแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช 3. พระยาพิชัยสงคราม หรือขุนรองปลัดชู กรมการเมืองวิเศษไชยชาญ ในรัชสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ) ซึ่งรวบรวมไพร่พลเข้าเป็นกองอาสาสมัคร 400 คน สังกัดกองอาทมาต เข้าร่วมทัพกรุงศรีอยุธยาต่อต้านการบุกครองของกองทัพพม่าในสงครามพระเจ้าอลองพญา ถึงแม้กำลังพลน้อยกว่าข้าศึกมาก แต่ก็สู้ด้วยความกล้าหาญและเสียสละเลือดเนื้อและชีวิต เพื่อผืนแผ่นดินไทย 4. พันท้ายนรสิงห์ นายท้ายเรือในรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ) เป็นผู้แสดงความซื่อสัตย์ ความกล้าหาญ เคารพต่อกฎหมาย แสดงออกซึ่งความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งหาใครเทียบได้ยาก 5. ขุนรัตนาวุธ ผู้นำกองทหารดาบทะลวงฟันในสงครามเก้าทัพ รัชสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สู้จนข้อมือขวาขาด และได้ใช้นิ้วซ้ายจุ่มที่เลือดและเขียนบนผ้าว่า “จงรักษาลาดหญ้าไว้ด้วยเลือดเนื้อและชีวิต” อันแสดงถึงความกล้าหาญ และรักชาติ รักแผ่นดิน จนตัวตาย 6. พระอาจารย์ธรรมโชติ ปู่ดอก ปู่แก้ว ปู่แท่น ปู่อิน ปู่เมือง ปู่โชติ ผู้ร่วมสร้างวีรกรรมอันกล้าหาญในการต่อสู้ด้วยการรวบรวมชาวบ้านต้านศึกพม่าได้ถึง 5 เดือน ชนะศึกได้ถึง 7 ครั้ง ก่อนต้องเสียชีวิตด้วยกำลังพลที่น้อยกว่าในครั้งที่ 8 เนื่องจากขาดอาวุธปืนใหญ่ในการสู้รบ และพม่าใช้อาวุธปืนใหญ่เข้ายิงจำนวนมาก ทำให้ บางระจันต้องแตกพ่ายในที่สุด เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2566 เวลา 09.30 น.

สาทร คชวงษ์ /บรรณาธิการข่าว

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *